เริ่มต้นจากหมูสาวสู่ความสำเร็จของฟาร์ม
การเลี้ยงหมูในปัจจุบัน ได้พัฒนาต่างจากการเลี้ยงในอดีตมาก ได้มีการนำหลักวิชาการต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตของฟาร์มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาผลผลิตของฟาร์ม และเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นของฟาร์ม นั่นคือการรับหมูสาวเข้าฟาร์ม เพราะหมูสาวคือตัวกำหนดอนาคตของฟาร์มได้ดีที่สุด
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฝูงพ่อแม่พันธุ์ ตัวชี้วัดที่นิยมใช้กันคือ ลูกหย่านมต่อแม่ทับต่อปี หรือ P/S/Y ซึ่งเป็นค่าที่สามารถบอกได้ว่าฟาร์มของเราสามารถทำกำไรได้มากหรือน้อยเพียงใด โดยเฉลี่ย P/S/Y ในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 22-25 ตัวต่อแม่ต่อปี ซึ่งถ้าหากเราสามารถเพิ่มจำนวนลูกหย่านมได้มากขึ้นตามการปรับปรุงพันธุ์ของหมูเดนมาร์กที่สามารถทำได้มากกว่า 30 ตัวต่อแม่ต่อปี นั่นคือกำไรของฟาร์มที่มากขึ้นโดยต้นทุนของฟาร์มเท่าเดิม จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกสายพันธุ์ที่ให้ลูกดก แข็งแรง มาพัฒนาผลผลิตของฟาร์มเรา
หมูเดนมาร์ก เป็นที่รู้โดยทั่วกันอยู่แล้วว่า เป็นสายพันธุ์ที่ให้ลูกดก จำนวนลูกทั้งหมดเฉลี่ยมีมากกว่า 16 ตัว/แม่ ซึ่งถ้าทำให้ลูกดกตั้งแต่ในท้องแรกท้องถัดๆไปจะให้ลูกที่ดกขึ้นเช่นกัน นอกจากสายพันธุ์ที่ให้ลูกดกแล้ววิธีการจัดการของหมูสาวอย่างไรที่จะทำให้เราได้ลูกดกสูงสุด จึงได้รวบรวมปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของหมูสาว ดังนี้
ตารางที่ 1 กราฟแสดงหมูสาวที่ผสมในสัด 1 2 และ 3 ในอายุ 6 7 และ 8 เดือน
1. อายุที่เริ่มผสม 230-250 วัน หรือ 32-35 สัปดาห์ และให้เริ่มผสมหลังจากเช็คสัดครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ดังนั้นอายุที่เหมาะสมสำหรับหมูเดนมาร์ก จะเริ่มผสมที่อายุ 32-35 สัปดาห์ เป็นช่วงที่มีความสมบูรณ์พันธุ์พร้อมรับการผสมมีพื้นที่ในการฝังตัวมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าให้หมูสาวอายุมากกว่า 7-8 เดือนให้จำนวนลูกที่มากกว่าหมูสาวที่ผสมอายุ 6 เดือนและผสมในสัดที่ 2 หรือ 3 ให้จำนวนลูกมากกว่าผสมในสัดที่ 1 ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 2 อัตราการเจริญเติบโตตั้งแต่หย่านมถึงผสมครั้งแรก
2. น้ำหนักที่เริ่มผสมประมาณ 130-155 กิโลกรัม โดยมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 750-800 กรัมต่อวัน ที่น้ำหนัก 30-140 กิโลกรัม เมื่อหมูสาวมีการเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์บ่งบอกว่าหมูมีความสมบูรณ์พร้อมรับการผสม สามารถพัฒนาระบบเต้านม ช่วยเพิ่มขนาดครอก และที่สำคัญทำให้ยืดอายุการใช้งานของหมูสาวได้ ไม่ควรให้หมูสาวมีการเจริญเติบโตรวดเร็วจนเกินไป เพราะมีผลต่อการพัฒนาของมวลกระดูกที่ทำให้หมูสาวรับน้ำหนักอุ้มท้องที่มากขึ้นไม่ได้ ดังตารางที่ 2 แสดงถึงอัตราการเจริญเติบโตของหมูสาวแต่ละช่วงอายุตั้งแต่หย่านมจนถึงเริ่มผสมครั้งแรก
3. ค่าไขมันที่กระดูกสันหลังตำแหน่งที่ P2 อยู่ที่ 12-15 มิลลิเมตร ในช่วงก่อนผสม โดยไขมันบริเวณกระดูกสันหลังจะเป็นแหล่งพลังงานสะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนทำให้ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้ดีขึ้น มีโอกาสเพิ่มจำนวนลูกทั้งหมดได้มากขึ้น ซึ่งค่าไขมันที่กระดูกจะสัมพันธ์กับน้ำหนักและขนาดตัวของสุกร แสดงถึงความพร้อมรับในการรับการผสม
4. ให้พ่อเช็คสัดเข้ากระตุ้นหมูสาวที่อายุ 200 วัน หรือ 28 สัปดาห์ เป็นต้นไป การนำพ่อเข้าเช็คสัดเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการจับสัด และกระตุ้นการเป็นสัดของหมูสาวได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถวางแผนการผสมได้อย่างถูกต้องเพิ่มโอกาสการผสมติดได้ดีขึ้น
5. การปรนอาหารหมูสาวก่อนผสม 7-10 วัน โดยเพิ่มปริมาณอาหารจากเดิมที่ให้วันละ 2.9 กิโลกรัม เป็น 3.5-4.0 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อกระตุ้นให้มีการตกไข่มากขึ้น ดังตารางที่ 3 แสดงถึงปริมาณการให้อาหารแต่ละช่วงอายุจนถึงช่วงปรนอาหารก่อนผสม
ตารางที่ 3 ปริมาณการให้อาหารแต่ละช่วงอายุ และ ปรนอาหารก่อนผสม
จากปัจจัยที่ผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของหมูสาวที่ได้กล่าวมานั้น ได้มีการทดลองใช้ในฟาร์มของเครือแอมโก้เวทและพบว่าสอดคล้องกับผลผลิตของฟาร์มทำให้ผลผลิตของฟาร์มเป็นไปตามเป้าหมาย โดยตั้งเป้าหมายจำนวนลูกมีชีวิตในท้องแรกให้ได้มากกว่า 14 ตัว/แม่ และเพิ่มมากขึ้นในท้องถัดๆไป ดังตารางที่ 4 แสดงโปรแกรมหมอหมูแสดงจำนวนลูกทั้งหมดและลูกมีชีวิตจำแนกโดยลำดับท้อง
ตารางที่ 4 โปรแกรมหมอหมูแสดงจำนวนลูกทั้งหมดและลูกที่มีชีวิต จำแนกโดนลำกับการท้อง