พ่อหนุ่มในวันนี้ สู่พ่อพันธุ์ในวันหน้า “เคล็ดไม่ลับการเลี้ยงพ่อหมูอย่างมีคุณภาพ”
ถ้าพูดถึงหน่วยการผลิตในฟาร์มที่คนมักมองข้ามมากที่สุดคงหนีไม่พ้นหน่วยพ่อพันธุ์นั่นเอง ทั้งที่หน่วยนี้มีความสำคัญมากในฟาร์ม เพราะเป็นต้นน้ำ(น้ำเชื้อ) ที่ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์ม ดังนั้นหลายๆฟาร์มจึงต้องมีความพิถีพิถันกับการเลือกซื้อพ่อหมู และมีแนวทางการจัดการในโรงเรือนพ่อพันธุ์ที่ดี รวมถึงขั้นตอนการผลิตน้ำเชื้อ เพื่อให้พ่อหมูสุขภาพดี สามารถใช้งานเป็นพ่อหมูรีดน้ำเชื้อที่ดีได้ และสามารถให้น้ำเชื้อที่มีคุณภาพให้กับฟาร์มได้ยาวนานที่สุด อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าคุณภาพของน้ำเชื้อส่งผลได้จากหลายสาเหตุ และบางสาเหตุนั้น เป็นปัจจัยที่ทุกคนอาจมองข้าม จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ทางทีมวิชาการแอมโก้ ได้รวบรวมปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อสุขภาพพ่อหมูและคุณภาพของน้ำเชื้อมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน
โดยหัวข้อในวันนี้เราจะเน้นที่ปัจจัยเรื่องของพันธุ์และการจัดการโรงเรือนพ่อหมู ได้แก่ การคัดเลือกหมูหนุ่มมาเป็นพ่อพันธุ์ การพัฒนาสายพันธุ์ โรคที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อ การจัดการและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรือนพ่อพันธุ์ อาหารโภชนาการ และขั้นตอนการรีดน้ำเชื้อพ่อพันธุ์
พันธุกรรมและการคัดพันธุ์หมูมาเป็นพ่อพันธุ์
วิธีการคัดพันธุ์พ่อหมูนั้นมีความสำคัญมากโดยดูจากพันธุ์ประวัติ (Pedigree) ที่มีค่าดัชนีทางพันธุกรรมสูง (Index) จะถูกคัดเลือกมาเป็นพ่อพันธุ์ก่อนโดยคัดเลือกร่วมกับลักษณะที่ดี ฟาร์มที่มีการคัดเลือกพ่อพันธุ์จากปัจจัยคุณภาพของน้ำเชื้อขณะที่หมูอายุน้อยกว่า 8 เดือน อาจทำให้ผลมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากหมูยังโตไม่เต็มที่ ดังนั้นควรมีการคัดเลือกพ่อหมูจากคุณภาพของน้ำเชื้อที่พ่อหมูอายุ 8 เดือนขึ้นไป เพื่อดูทั้งลักษณะโครงสร้างและความสามารถในการรีดน้ำเชื้อ
ปัจจัยเรื่องของน้ำหนักแรกคลอด เป็นจุดหนึ่งที่ใช้ดูแนวโน้มคุณภาพของพ่อหมูตัวนั้นได้ โดยลูกสุกรน้ำหนักแรกเกิดสูง ( 1.5-2 กิโลกรัม) จะมีขนาดอัณฑะใหญ่กว่า หมูที่น้ำหนักแรกคลอดต่ำ (< 1 กิโลกรัม) และเมื่อถึงเวลาคัดพันธุ์ ที่หมูอายุ 150 วัน หมูที่มีขนาดอัณฑะใหญ่ จะมีการสร้างอสุจิในปริมาณที่มากกว่าหมูที่มีอัณฑะเล็ก
การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ
ปัจจัยเรื่องของโรคและการติดเชื้อต่างๆ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของพ่อหมูแล้ว ยังทำให้คุณภาพของน้ำเชื้อเสื่อมลงอีกด้วย โดยในบทความนี้จะยกตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ดังต่อไปนี้
- โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)/โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
- เชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้คุณภาพน้ำเชื้อของพ่อหมูลดลง
- โรคอหิวาต์สุกรทำให้อัณฑะฝ่อและสร้างอสุจิที่ผิดปกติมากขึ้น
- PRRS (PRRS virus) ไม่ได้สร้างรอยโรคบนอัณฑะพ่อหมู แต่ด้วยตัวไวรัสที่มีการเจริญเติบโตบนผนังเซลล์อัณฑะ ผลที่ตามมาคือ อสุจิที่ผลิตได้จะมีความผิดปกติและปริมาณน้ำเชื้อที่พ่อหมูสร้างได้จะลดลง
ลักษณะโรงเรือน คอกพ่อหมู และสิ่งแวดล้อมในโรงเรือน
ลักษณะโรงเรือนและสิ่งแวดล้อมของพ่อหมูอาจส่งผลต่อพ่อหมูทั้งทางตรงในเรื่องของสุขภาพและทางอ้อมคือ ส่งผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อ ในการปนเปื้อนของแบคทีเรียในคอกและสิ่งแวดล้อม หากฟาร์มไหนมีวัสดุรองนอนให้แก่พ่อหมู ควรเอาวัสดุรองนอนออกก่อนเวลารีดน้ำเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย
- การศึกษาในอดีต พบว่า การเลี้ยงหมูหนุ่มในคอกรวม โดยจัดหมู จำนวน 8 ตัว ในคอกขนาด 4 x 4.3เมตร ตั้งแต่น้ำหนัก 30 kg จนกระทั่งพ่อหมูสามารถขึ้นดัมมี่ได้ 2 ครั้ง (อายุประมาณ 6 เดือน) จะมีขาที่แข็งแรง ความกำหนัดที่มากกว่า ปริมาณน้ำเชื้อที่เยอะกว่า และสามารถใช้รีดน้ำเชื้อได้ก่อนพ่อหมูที่ถูกเลี้ยงอยู่ในคอกเดี่ยว
- แสงสว่าง พ่อหมูที่อยู่ในโรงเรือนที่มีแสงสว่าง มากกว่า 100 ลักซ์ อย่างน้อย 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่อายุ 11 สัปดาห์จนถึงช่วงเจริญพันธุ์ (24-26 สัปดาห์) จะมีการเจริญพันธุ์เร็วและมีความกำหนัดมากกว่าพ่อหมูที่ถูกเลี้ยงด้วยแสงธรรมชาติ
- ปัจจัยเรื่องความเครียดจากอากาศ พ่อหมูที่ถูกเลี้ยงในโรงเรือนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศา จะมีความสมบูรณ์พันธุ์ลดลง อสุจิเคลื่อนที่ไปข้างหน้าลดลง และรูปร่างอสุจิไม่ปกติ นอกจากนี้หากอุณหภูมิในโรงเรือนที่มีความผันผวนระหว่างกลางวันและกลางคืนมากกว่า 10 องศาเซลเซียส (25-35 องศาเซลเซียส) จะทำให้พ่อหมูผลิตตัวอสุจิลดลง สำหรับประเทศไทย แนะนำให้อุณหภูมิในโรงเรือนอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส
- พื้นที่การเลี้ยงสำหรับพ่อพันธุ์หนุ่ม จะใช้พื้นที่คอกประมาณ 6 ตารางเมตร โดยพื้นคอกต้องแห้งและไม่ลื่นและที่สำคัญคือพ่อหมูต้องเข้าถึงการกินน้ำได้ตลอดเวลา พ่อหมูควรมองเห็นพ่อพันธุ์ตัวอื่นๆที่อยู่คอกใกล้ๆกัน เพื่อให้พ่อหมูได้แสดงพฤติกรรมอยากผสมพันธุ์และการเป็นจ่าฝูงออกมาซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพของพ่อพันธุ์ดีขึ้นต่อไป และต้องระมัดระวังในการนำพ่อหมูหนุ่มไปอยู่ใกล้กับพ่อพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า เนื่องจากความก้าวร้าวของพ่อที่แก่กว่าจะยับยั้งการแสดงออกทางเพศและความกล้าที่จะถูกรีดน้ำเชื้อของพ่อหนุ่มได้
คอกรีดน้ำเชื้อ และความถี่ของการรีดน้ำเชื้อพ่อหมู
พ่อหมูที่ได้รับการกระตุ้นก่อนรีดน้ำเชื้อจะทำให้รีดน้ำเชื้อเสร็จเร็วกว่าพ่อหมูที่ไม่ได้รับการกระตุ้น ผลที่ตามมาคือ คนงานสามารถประหยัดเวลาในการรีดน้ำเชื้อพ่อหมูตามโปรแกรมได้ โดยเราสามารถกระตุ้นอารมณ์พ่อหมูก่อนรีดน้ำเชื้อได้โดย ย้ายพ่อหมูตัวนั้นไปอยู่ใกล้พ่อหมูที่กำลังขึ้นดัมมี่หรือกำลังรีดน้ำเชื้ออยู่ เมื่อพ่อหมูตัวนั้นเห็นพ่อที่กำลังรีดก็จะเป็นการกระตุ้นการหลั่งน้ำเชื้อของพ่อตัวนั้นด้วย
เรื่องของความสะอาดและสุขอนามัยขณะรีดน้ำเชื้อเป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะ หากขั้นตอนการรีดน้ำเชื้อมีความสกปรก จะทำให้น้ำเชื้อมีการปนเปื้อนได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส และเชื้อบางตัวนั้นสามารถแพร่จากพ่อหมูไปสู่แม่หมูผ่านทางน้ำเชื้อได้ด้วย
สำหรับโปรแกรมการรีดน้ำเชื้อพ่อหมู ควรมีการรีด 1 ครั้ง/สัปดาห์ หากมีการรีดน้ำเชื้อบ่อยเกิน จะทำให้อสุจิที่ออกมาไม่แข็งแรงเนื่องจากมีระยะเวลาพักรีดไม่เพียงพอ ควรใช้ปัสสาวะหมูที่เป็นสัดมากระตุ้นความสนใจ
วิธีการพัฒนาสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
ในปัจจุบัน เป้าหมายของการพัฒนาสายพันธุ์ของแต่ละฟาร์ม มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มจำนวนลูกสุกรหย่านมและการผลิตหมูขุนที่โตเร็ว แข็งแรง ดังนั้นหลายๆฟาร์มจึงเลือกที่จะนำเข้าพ่อหมูสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการพัฒนาพันธุกรรม มาผลิตเป็นพ่อรีดน้ำเชื้อเองในฟาร์ม อย่างไรก็ตามการเลี้ยงพ่อหมูตั้งแต่อายุหนุ่มจนถึงอายุที่สามารถรีดน้ำเชื้อมาใช้งานได้นั้น ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ทำให้การพัฒนาสายพันธุ์ของสุกรในฟาร์มนั้นเกิดความล่าช้า
ดังนั้น อีกหนึ่งวิธีที่เป็นการยกระดับสายพันธุ์สุกรในฟาร์มโดยที่ไม่ต้องผลิตพ่อหมูเอง คือ การซื้อน้ำเชื้อจากฟาร์มที่มีมาตรฐานทั้งมาตรฐานฟาร์มที่ดีและปลอดภัย เชื่อถือได้ รวมถึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ของสุกรอย่างต่อเนื่อง โดยฟาร์มแอมโก้ เป็นอีกหนึ่งฟาร์มที่มีการเลี้ยงสุกรพ่อพันธุ์และผลิตน้ำเชื้อเพื่อจำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศไทย ซึ่งน้ำเชื้อพ่อพันธุ์จากฟาร์มแอมโก้นั้น มีคุณสมบัติทางพันธุกรรมที่ดี มีหลากหลายสายพันธุ์ตามความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นดูร็อค ลาร์จไวท์และแลนด์เรซ รวมถึงมีระดับของสายพันธุ์ให้เลือกไม่ว่าจะเป็นน้ำเชื้อ GGP สำหรับผลิตพ่อแม่พันธุ์แท้ GP เพื่อผลิตพ่อแม่พันธุ์ และ PS สำหรับผลิตหมูขุนและปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ฟาร์มแอมโก้เน้นความปลอดภัยเรื่องโรค ระบบป้องกันโรคและมีการสุ่มตรวจโรคในน้ำเชื้อก่อนที่จะส่งถึงมือฟาร์มลูกค้าอีกด้วย
สุดท้ายนี้เราหวังว่าบทความเคล็ดไม่ลับการเลี้ยงพ่อหมูอย่างมีคุณภาพ” ภาค 1 จะทำให้ทุกคนหวนกลับมาคิดถึงการจัดการ ขั้นตอนต่างๆที่ฟาร์มของตนเองได้ทำ และนำไปปรับใช้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของฟาร์มและสุขภาพที่ดีของพ่อหมูต่อไป โดยบทความในภาคที่ 2 จะเป็นเรื่องของ “ขั้นตอนการผลิตน้ำเชื้อ” ที่ดี จะต้องทำอย่างไร ฝากรับชมและติดตามต่อในภายภาคหน้าด้วยค่ะ